เว็บไซต์ 24/7วอลล์สตรีท จัดอันดับท็อป 10ประเทศ ที่หนี้มากที่สุดในโลก โดยใช้ข้อมูลในปี 2554ส่วนใหญ่ โดยหลายประเทศมีหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับจีดีพี ดังนี้
อันดับ 1 ประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนหนี้ คิดเป็นร้อยละของจีดีพี อยู่ที่ 233.1%สูงที่สุดในหมู่ชาติพัฒนาแล้ว แม้ว่าปริมาณหนี้จะมากแต่ญี่ปุ่นสามารถบริหารจัดการให้รอดพ้นจากหายนะทางเศรษฐกิจ ไม่ซ้ำรอยกรีซและโปรตุเกส เนื่องจากมีอัตราว่างงานในระดับต่ำเพียง 4.6%และเจ้าหนี้พันธบัตรรัฐบาล 95%เป็นชาวญี่ปุ่นเอง ไม่ใช่ต่างชาติขณะที่หนี้ภาครัฐอยู่ที่ 13.7ล้านล้านดอลลาร์ ตัวเลขจีดีพีต่อคนต่อปี อยู่ที่ 33.994ดอลลาร์ ส่วนมูลค่าจีดีพี (nominal GDP) อยู่ที่ 5.88ล้านล้านดอลลาร์
อันดับ 2 ประเทศกรีซ ที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ล่าสุดเอเธนส์ มีสัดส่วนหนี้ ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 168.2%เพิ่มจากเมื่อปี 2553ที่อยู่ที่ระดับ 143%หนี้ของรัฐบาลเอเธนส์อยู่ที่ 4.89แสนล้านดอลลาร์ ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 28,154ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 3.03แสนล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงานสูงถึง 19.2%
อันดับ 3 ประเทศอิตาลี มีสัดส่วนหนี้ ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 120.5%โดยปัญหาหนี้ มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของอิตาลี ซึ่งจีดีพีเติบโตเพียง 1.3%ในปี 2553จนอิตาลีต้องประกาศมาตรการรัดเข็มขัดเมื่อปลายปีที่แล้วหนี้ของรัฐบาลอิตาลีอยู่ที่ 2.54ล้านล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 31,555ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.2ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงานที่ 8.9%
อันดับ 4 ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเคยมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในอียู มีอัตราเติบโตของจีดีพีเฉลี่ย 10%และมีอัตราว่างงานต่ำสุดในหมู่ชาติอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว จนกระทั่งเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจไอร์แลนด์ก็เริ่มหดตัว จนถึงปี 2553ไอร์แลนด์ขาดดุลงบประมาณ 32.4%ของจีดีพี และยอดหนี้พุ่งกว่า 500%นับตั้งแต่ปี 2544ล่าสุด ไอร์แลนด์ มีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 108.1%มีหนี้ภาครัฐ 2.25แสนล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปี 39,727ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.17แสนล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงาน 14.5%
อับดับ 5 ประเทศโปรตุเกส ซึ่งได้รับแรงกระแทกจากเศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างหนักหน่วง เมื่อปี 2554โปรตุเกสขอรับเงินช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟไปแล้ว 1.04แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณและหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากปัจจุบัน โปรตุเกส มีสัดส่วนหนี้ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 101.6%มีหนี้ภาครัฐ 2.57แสนล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 25,575ดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 2.39แสนล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงานอยู่ที่ 13.6%
อันดับ 6 ประเทศเบลเยี่ยม ล่าสุดมีสัดส่วนหนี้ ที่คิดเป็นร้อยละของจีดีพี 97.2%ทั้งนี้ ไอร์แลนด์เคยมีอัตราหนี้ต่อจีดีพีสูงถึง 135%เมื่อปี 2536และค่อยๆ ลดเหลือ 84%ในปี 2550แต่ภายใน 4ปีต่อมาก็กลับเพิ่มเป็น 95%เบลเยี่ยมมีหนี้ภาครัฐ 4.79แสนล้านดอลลาร์ ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 37,448ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 5.14แสนล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 7.2%
อันดับ 7 ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะนี้มีสัดส่วนหนี้ 85.5%ของจีดีพี จากเมื่อปี 2544ที่อยู่ที่ 45.6%เนื่องจากทางการวอชิงตันใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2544อเมริกามีค่าใช้จ่าย 33.1%ของจีดีพี กระทั่งถึงปี 2553รายจ่ายเพิ่มเป็น 39.1%ของจีดีพีส่วนหนี้ของรัฐบาลสหรัฐ นับถึงปี 2554อยู่ที่ 12.8ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 6.4ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2548ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 47,184ดอลลาร์ มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 15.13ล้านล้านดอลลาร์ และอัตราว่างงานอยู่ที่ 8.3%
อันดับ 8 ประเทศฝรั่งเศส เขตเศรษฐกิจอันดับ 3ของอียู ที่มีสัดส่วนหนี้คิดเป็นร้อยละของจีดีพีอยู่ที่ 85.4%มีหนี้ภาครัฐอยู่ที่ 2.26ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 2.76ล้านล้านดอลลาร์ สูสีกับอังกฤษ ส่วนจีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 33,820ดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 9.9%
อันดับ 9 ประเทศเยอรมนี เขตเศรษฐกิจใหญ่สุดและแข็งแกร่งที่สุดในอียู เยอรมันมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ยูโรโซนทั้งหมด รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือแก่กรีซในปี 2553แต่แม้จะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เยอรมันมีสัดส่วนหนี้ 81.8%ของจีดีพี สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว เยอรมนี มีหนี้ภาครัฐ 2.79ล้านล้านดอลลาร์ มีจีดีพีต่อคนต่อปี 37,591ดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 3.56ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 5.5%ถือเป็นระดับต่ำสุดในยุโรป
อันดับ 10 ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสัดส่วนหนี้ 80.9%ของจีดีพี แม้จะค่อนข้างสูง แต่เศรษฐกิจอังกฤษยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับอังกฤษไม่ได้อยู่ในยูโรโซนที่ใช้เงินสกุลเดียวกัน ทำให้รัฐบาลและแบงก์ชาติมีอิสระที่จะดำเนินการใดๆ มากกว่าสำหรับหนี้ของรัฐบาลอังกฤษอยู่ที่ 1.99ล้านล้านดอลลาร์ จีดีพีต่อคนต่อปีอยู่ที่ 35,860ดอลลาร์ มีมูลค่าจีดีพี 2.46ล้านล้านดอลลาร์ และมีอัตราว่างงาน 8.4%