วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แฟชั่นสมัยฝรั่งเศส

ประวัติศาสตร์แฟชั่น – สมัยฝรั่งเศส
By: Patti
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ปารีสซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสคือศูนย์กลางแห่งการออกแบบเครื่องแต่งกายของโลก นักออกแบบเครื่องแต่งกายชาวฝรั่งเศสในหลายยุคสมัยที่ผ่านมาได้รับการยกย่องในฝีมือการออกแบบว่าเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายที่มีความสวยงามและนำสมัยมาโดยตลอด ก็เนื่องมาจากประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีวิวัฒนาการที่ยาวนาน สามารจะจำแนกการแต่งกายของชาวฝรั่งเศสออกเป็นสมัยต่างๆได้ 30 สมัย ดังนี้
1.สมัยโกลัวส์ (Gaulois) ราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 9
ในสมัยโกลัวส์ ชาวฝรั่งเศสได้รับอิทธิพลด้านการแต่งกายมาจากชาวโรมันคือ การแต่งกายของผู้ชายนิยมสวมเสื้อทูนิคยาวแค่เข่า แขนเสื้อยาว ปลายแขนเสื้อกว้าง คอเสื้อเป็นคอตลบ ใช้ผ้าเฉียงเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมติดเข้ากับคอเสื้อไว้คลุมศรีษะแทนการสวมหมวก คาดเข็มขัดทำด้วยผ้า เชือก หรือใช้หนังสัตว์คาดเอว สวมกางเกงขายาวตัวหลวม ยาวคลุมข้อเท้า และสวมรองเท้าทำด้วยหนัง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนั้นนิยมสวมเสื้อทูนิค ความยาวคลุมเข่า แขนเสื้อยาว ปลายแขนเสื้อกว้าง คอเสื้อเป็นคอตลบปล่อยให้ผ้าตกกองลงมาเป็นริ้ว สวมทับชุดกระโปรงตัวในที่ยาวคลุมข้อเท้า แขนเสื้อยาวแนบแขน มีผ้าคาดเอวผูกทิ้งชายทั้งสองข้างลงมาด้านหน้า สวมเครื่องประดับแบบเรียบง่ายทำด้วยหนังสัตว์และหินสีและไม่สวมรองเท้า
2.สมัยฟรังส์ (Francs) ราวพุทธศตวรรษที่ 10-13
ผู้ชายสมัยฟรังส์นิยมสวมเสื้อทูนิคคอกลมตัวสั้นเหนือเข่า แขนเสื้อยาว แขนเสื้อตอนบนใหญ่แล้วรวบเล็กไว้ที่มือ นิยมกุ๊นขอบชายเสื้อ มีผ้าคลุมทับเป็นเสื้อคลุมที่ไม่มีแขนเสื้อ ไม่มีคอเสื้อ รวบผ้าคลุมไว้ที่ไหล่ด้านขวา เวลารวบผ้าคลุมนิยมจับจีบผ้าให้ดูสวยงาม แล้วใช้เครื่องประดับกลัดตกแต่งไว้ตรงด้านที่รวบ ในสมัยนี้ผู้ชายเริ่มสวมถุงเท้า กล่าวคือ สวมถุงเท้ายาวถึงเข่า ทับกางเกงขายาวรัดรูป สวมรองเท้าหนัง หรือสวมถุงเท้ายาวครึ่งแข้งทับกางเกงขายาวรัดรูป สวมรองเท้าแบบมีสายหนังคาดถักไขว้ไปมาทับถุงเท้าอีกชั้นหนึ่งผูกเป็นโบว์ไว้ที่เข่า รูปแบบการแต่งกายดังกล่าวนี้ มีความคล้ายคลึงกันระหว่างกษัตริย์และสามัญชน ยกเว้นเครื่องประดับศรีษะ ซึ่งกษัตริย์สวมมงกุฎ ส่วนผู้ชายสามัญชนใช้ผ้าคาดศรีษะผูกโบว์ไว้ด้านหลัง สมัยนี้ผู้ชายนิยมไว้หนวด ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงสมัยนี้ยังคงแต่งกายเหมือนสมัยโกลัวส์
3.สมัยพุทธศตวรรษที่ 14-17
การแต่งกายของผู้ชายในสมัยศตวรรษที่ 14-17ยังคงแต่งกายเหมือนในสมัยฟรังส์ ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยเสื้อทูนิคยาว ความยาวกรอมเท้า ตัวเสื้อเข้ารูปมากขึ้น แขนเสื้อยาวและปลายแขนกว้างมาก สวมทับชุดกระโปรงตัวในที่ยาวคลุมข้อเท้า แขนเสื้อยาวแนบแขน มีผ้ายาวใช้คลุมไหล่และคลุมผมแทนการสวมหมวก หรือสวมเครื่องประดับบนศรีษะ และผู้หญิงสมัยนี้นิยมปักลวดลายตกแต่งลงบนเสื้อผ้า เนื่องจากสมัยนี้เป็นช่วงที่ศาสนาเข้ามามีบทบาทมากการแต่งกายของผู้หญิงจึงต้องดูสุภาพเรียบร้อยแลดูรัดกุมมากขึ้น
4.สมัยพุทธศตวรรษที่ 18
การแต่งกายของผู้ชายและผู้หญิงในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18คล้ายคลึงกันคือ นิยมสวมเสื้อทูนิคยาวคอเสื้อเป็นคอกลมติดคอ แขนเสื้อยาวตอนบนใหญ่แล้วรวบเล็กไว้ที่ข้อมือ ใช้เชือกหรือผ้าคาดเอวผูกทิ้งชายไว้ด้านหน้า มีผ้าคลุมไหล่ยาวเกือบถึงชายทูนิค มีเครื่องประดับตกแต่งตรงคอเสื้อ สวมรองเท้าทำด้วยหนัง และนิยมสวมหมวกรูปทรงกลมเป็นแบบง่าย ๆ เครื่องแต่งกายของผู้ชายและผู้หญิงจะมีความแตกต่างกันตรงที่เสื้อทูนิคของผู้ชายยาวกรอมเท้า ส่วนเสื้อทูนิคของผู้หญิงยาวกรอมเท้ากรุยกรายปลายบานออกและผู้หญิงใช้ผ้าคลุมศรีษะ พันชายผ้าไว้รอบคอแลดูสุภาพเรียบร้อย
5.สมัยพุทธศตวรรษที่ 19
ในสมัยพุทธษตวรรษที่ 19 ผู้ชายนิยมสวมเสื้อคอปิดแขนยาวเข้ารูป ผ่าด้านหน้าตั้งแต่คอเสื้อจรดปลายเสื้อ เสื้อยาวคลุมสะโพก สวมถุงเท้ายางใต้เข่า ทับกางเกงขายาวรัดรูปแล้วสวมรองเท้าบูท (Boot)ทับอีกชั้นหนึ่ง และสวมหมวกทรงกลมแบบง่าย ๆ ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนั้น นิยมสวมชุดยาวกรอมเท้า ผ่าด้านหน้าตั้งแต่คอเสื้อจรดชายกระโปรงตัวเสื้อเข้ารูปเน้นลำตัวช่วงบน แล้วบานออกตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ทิ้งชายกรุยกราย คอเสื้อมีทั้งแบบคอกว้างและคอปิด แขนเสื้อมีทั้งแบบแนบตัวรวบเล็กไว้ที่ข้อมือ และแบบแนบตัวแล้วบานกว้างออกตั้งแต่ข้อศอกลงมา มองเห็นเสื้อตัวใน สมัยนี้ผู้หญิงยังคงนิยมสวมหมวกรูปทรงง่าย ๆ สวมทับผ้าคลุมศรีษะซึ่งรวบพันคอเก็บไว้ด้านในคอเสื้อ ผู้หญิงสูงศักดิ์สวมมงกุฎ และสวมเครื่องประดับเพชรพลอย
6.สมัยพระเจ้าชาร์ลที่5 (Charles V, พ.ศ. 1899-1923)
ผู้ชายในสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 5 กลับมานิยมสวมเสื่อทูนิครูปทรงหลวม ๆ ตัวเสื้อสั้นความยาวคลุมเข่าหรือเหนือเข่า แขนเสื้อบานกว้างออกตั้งแต่หัวไหล่จรดข้อศอกหรือจรดข้อมือ สวมทับเสื้อตัวในที่มีแขนเสื้อยาวเข้ารูป มีเข็มขัดทำด้วยหนังคาดเอว ที่เข็มขัดทำเป็นกระเป๋าใบใหญ่ สวมถุงเท้ายาวถึงสะโพก สวมรองเท้าหัวแหลมทำจากหนังหรือผ้า สวมหมวกที่ทำจากผ้าหรือขนสัตว์ รูปทรงของหมวกเป็นรูปทรงกลมกระทัดรัดหรือรูปทรงแบบถุงผ้า นิยมปักลวดลายตกแต่งบริเวณคอเสื้อ ส่วนผู้หญิงนั้นยังคงแต่งกายคล้ายคลึงกับพุทธศตวรรษที่ 19
7.สมัยพระเจ้าชาร์ลที่6 (Charles VI, พ.ศ. 1923-1965)
ในสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 6 ผู้ชายนิยมส่วนเสื้อคอตั้ง ตัวสั้นเข้ารูป แขนเสื้อพองใหญ่ ผ่าด้านหน้าสำหรับสอดแขน สวมทับเสื้อตัวในที่มีแขนเสื้อยาวเข้ารูป สวมกางเกงขายาวรัดรูป นิยมใช้เครื่องประดับตกแต่ง สวมหมวกที่ทำจากผ้าหรือขนสัตว์ รูปทรงของหมวกเป็นรูปทรงกลมพองฟู ส่วนผู้หญิงนิยมสวมเสื้อเข้ารูปยาวคลุมสะโพก แขนเสื้อยาวเข้ารูปตกแต่งชายเสื้อด้านหน้าด้วยผ้าขนสัตว์ สวมทับชุดตัวในที่ยาวกรอมเท้าเข้ารูปช่วงบนปลายบานตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ทิ้งชายกรุยกรายลากพื้น สวมเสื้อผ้าสีสันสดใส สวมหมวกทรงสูงรูปทรงแปลกตา ทั้งชายและหญิงนิยมสวมเครื่องประดับเพชรพลอยและสวมรองเท้าหัวแหลมทำจากหนังหรือผ้า
8.สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 (Louis XI, พ.ศ. 2009-2026)
การแต่งกายของผู้ชายในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่11กลับมานิยมสวมเสื้อทูนิคสั้นยาวเหนือเข่าผ่าด้านข้างเกือบถึงเอว เสื้อตัวหลวมแขนเสื้อยาว ปกเสื้อปลายแขนเสื้อและชายเสื้อตกแต่งด้วยผ้าขนสัตว์ คาดเข็มขัดทำด้วยหนังต่ำกว่าเอว สวมทับเสื้อตัวในคอปิดที่มีแขนเสื้อยาวรัดรูป ใช้ผ้าผืนยาวคลุมไหล่ สวมกางเกงขายาวรัดรูป สวมรองเท้าหัวแหลมทำจากหนังหรือผ้า และยังคงนิยมสวมหมวกเป็นรูปทรงกลมแบบง่าย ๆ ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนั้น นิยมสวมเสื้อแขนยาวเข้ารูป เน้นรูปร่างคอเสื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยม สวมกระโปรงยาวกรอมเท้า ปลายบาน ทิ้งชายกรุยกรายลากพื้น สวมทับชุดตัวในตัวยาวกรอมเท้าคอปิดใช้ผ้าคลุมศรีษะ ทิ้งชายไว้เหนือไหล่และสวมรองเท้าหัวแหลม
9.สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 (Louis XII, พ.ศ. 2032-2058)
สมัยนี้ตรงกับสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาซึ่งฝรั่งเศสได้รับอิทธิพลด้านการแต่งกายจากอิตาลี ผู้ชายสวมเสื้อคอเหลี่ยม แขนยาวรวบเล็กไว้ที่ข้อมือ ตัวเสื้อปักลวดลาย มีเสื้อคลุมปักลวดลายเช่นเดียวกัน เจาะแขน คลุมไหล่ ตัวยาวแค่เข่า ตกแต่งชายเสื้อด้านหน้าด้วยขนสัตว์ สวมทับกางเกงรัดรูป ส่วนผู้หญิงแต่งกายเน้นรูปร่างตั้งแต่ช่วงสะโพกขึ้นไป สวมกระโปรงยาวกรอมเท้า ปลายบานด้านหลังชายกระโปรงยาวมาก ทิ้งชายกรุยกรายลากพื้น สวมเสื้อแขนกว้าง เจาะแขนตั้งแต่หัวไหล่ลงมาเกือบถึงปลายแขน สวมทับชุดในแขนพองยาว รวบปลายแขน คอเสื้อเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างมาก เสื้อแต่งเส้นเน้นรูปทรง ปักลวดลายที่ชายแขนเสื้อและชายกระโปรง เสื้อตัวนอกอีกแบบหนึ่งเป็นเสื้อไม่มีแขน โชว์แขนเสื้อตัวใน ซึ่งปักลวดลายมีจีบ พองตรงหังไหล่และข้อศอก แขนยาวแนบแขน ตกแต่งปลายแขนและคอเสื้อด้วยลูกไม้ ทั้งชายและหญิงนิยมสวมเครื่องประดับและสวมรองเท้าทำด้วยไหมหรือกำมะหยี่ โดยต้นสมัยนิยมรองเท้าหัวแหลม ส่วนปลายสมัยหัวรองเท้าเป็นรูปเหลี่ยม มีสายคาดทับบนหลังเท้า และนิยมสวมหมวกรูปทรงแบนเป็นรูปสามเหลี่ยมและรูปทรงกลมประดับตกแต่งด้วยเพชรพลอย
10.สมัยพระเจ้าฟรังส์ซัวส์ที่ 1 (Francois I, พ.ศ. 2508-2090)
สมัยนี้ฝรั่งเศสเฟื่องฟูด้านการแต่งกายเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นการเลียนแบบมาจากอิตาลี ผู้ชายสวมเสื้อคลุมตัวสั้นยาวคลุมสะโพกผ่าหน้า แขนสั้นแค่ข้อศอก สวมทับเสื้อตัวในที่จีบพองทั้งตัว แขนยาวรวบเล็กที่ข้อมือยาวคลุมสะโพกคาดเอวด้วยเข็มขัด สวมกางเกงขาสั้น จีบพองทั้งตัวรัดต้นแขน สวมถุงเท้าผ้า และสวมหมวกประดับด้วยขนนกและเพชรพลอย ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อคอเหลี่ยมกว้าง รัดรูปเน้นอกและเอว แขนยาวจับจีบพองรวบเป็นชั้น ๆ ตั้งแต่ต้นแขนถึงข้อมือ กระโปรงผ่าหน้ายาวกรอมเท้าสวมทับกระโปรงตัวในยาวกรอมเท้าพองกางคล้ายระฆัง มีโครงภายในทำจากโครงเหล็กหรือกระดูกปลาวาฬหุ้มด้วยผ้าลูกไม้ ใช้ขนสัตว์ตกแต่งแขนเสื้อคลุมโดยทำเป็นวงแขนกว้างไว้สำหรับสอดแขนและเจาะแขนช่วงหน้าตั้งแต่ไหล่ถึงปลายแขนเพื่อโชว์เสื้อตัวใน เสื้อตัวนอกนิยมปักลวดลายใช้ลูกไม้ตกแต่งคอเสื้อปลายแขนและชายกระโปรง สวมเครื่องประดับเพชรพลอยและสวมรองเท้าหนังหัวแหลมหรือหัวเหลี่ยม หัวรองเท้าผู้หญิงเจาะผ้าปักเพชรพลอย
11.สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่2 (Henri II, พ.ศ. 2090-2102)
ผู้ชายในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ยังคงแต่งกายเหมือนในสมัยพระเจ้าฟรังซัวส์ที่ 1 แตกต่างกันตรงที่มีผ้าคลุมไหล่ผืนใหญ่ หรือสวมเสื้อคลุมตัวใหญ่แขนเสื้อจีบพองใหญ่ ชายผ้าหริอชายเสื้อยาวเหนือเข่า ตกแต่งด้วยผ้าขนสัตว์เพิ่มขึ้นจากเดิม เช่นเดียวกับการแต่งกายของผู้หญิงที่ยังคงแต่งกายคล้ายกับสมัยพระเจ้าฟรัวส์ซัวส์ที่ 1 จะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย กล่าวคือ ชุดกระโปรงตัวนอกมีแขนเสื้อพองใหญ่เฉพาะต้นแขนแล้วรัดรูปตามลำแขนไปจนถึงข้อมือ ตกแต่งปลายแขนเสื้อด้วยผ้าลูกไม้จีบระบาย ใช้ผ้าลูกไม้ตกแต่งบริเวณเหนืออกขึ้นไป สวมทับกระโปรงตัวในซึ่งเป็นผ้าลูกไม้ สวมหมวกใบเล็กที่ระบายด้วยผ้าลูกไม้เช่นกัน และนิยมสวมรองเท้าส้นสูง นับเป็นครั้งแรกของการแต่งกายของผู้หญิงชาวฝรั่งเศสที่สวมรองเท้าส้นสูง ซึ่งยังคงมีอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้
12.สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่3 (Henri III, พ.ศ. 2117-2132)
ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3นี้ผู้ชายยังคงสวมเสื้อเข้ารูปผ่าด้านหน้า แขนเสื้อยาวตกแต่งแขนเสื้อด้วยผ้าลูกไม้ตัดเส้นรูปแหลมที่เอวชายเสื้อเป็นรูปแหลมยาวเพียงเป้ากางเกง ตกแต่งรอบคอด้วยการระบายลูกไม้จับจีบเป็นชั้น ระบายแยกออกจากตัวเสื้อ เรียกว่า “แฟรส” (Fraise) แปลว่า ลูก สตรอเบอรี่ ใช้ผ้าคลุมผืนใหญ่คลุมไหล่ชายผ้ายาวเพียงสะโพก สวมกางเกงขายาวพองช่วงบนแล้วรัดรูปจากเข่าลงไป จีบรูปขากางเกงเป็นเปราะ ๆ ตั้งแต่สะโพกถึงปลายขา สวมทับด้วยถุงเท้าผ้ายาวถึงหัวเข่า แล้วจึงสวมรองเท้าหนัง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิง กลับไปแต่งกายคล้ายกับผู้หญิงในสมัยพระเจ้าฟรังส์ซัวส์ที่ 1มีส่วนที่ต่างกันบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ แขนเสื้อรัดรูปยาวถึงข้อมือและแต่งระบายด้วยลูกไม้ ซึ่งในสมัยนี้เริ่มมีการทอลูกไม้ขึ้นในประเทศฝรั่งเศส สำหรับรองเท้านิยมรองเท้าส้นสูงที่ทำจากหนัง ผู้ชายยังคงสวมเสื้อเข้ารูปผ่าหน้า แขนยาวเข้ารูปแต่งปลายแขนด้วยผ้าลูกไม้ชายเสื้อตรงและสั้นขึ้นเล็กน้อย คาดเข็มขัด แต่งรอบคอด้วยระบายลูกไม้จับจีบเป็นชั้น ระบายแยกจากตัวเสื้อแต่งไหล่เป็นปีก สวมกางเกงที่มีช่วงบนพองและเจาะเนื้อผ้าเป็นช่องให้เห็นเนื้อผ้าของกางเกงชั้นใน แล้วรัดรูปจากเข่าลงไปใช้ผ้ารัดเข่าแล้วผูกเป็นโบว์ไว้ด้านข้างหรือสวมกางเกงขายาวรัดรูป แล้วสวมทับด้วยกระโปรงจับจีบสั้นพองคลุมสะโพก สวมหมวกและสวมรองเท้าหนังส้นสูง ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อจับจีบเข้ารูป แขนยาวพองเล็กน้อยรวบไว้ที่ข้อมือ ปลายแขนแต่งด้วยลูกไม้ แต่งรอบคอด้วยระบายลูกไม้หรือระบายลูกไม้จับจีบเป็นชั้น ระบายแยกจากลำตัวเสื้อแต่งไหล่เป็นปีก เอวต่อรูปแหลมและต่อเอวเป็นปีกรูปครึ่งวงกลม ยังคงนิยมสวมกระโปรงยาวกรอมเท้าพองกางคล้ายระฆังมีโครงภายในทำจากโครงเหล็กหรือกระดูกปลาวาฬหุ้มด้วยผ้าลูกไม้ เหมือนสมัยพระเจ้าฟรังส์ซัวส์ที่1แต่ตกแต่ง เพิ่มเติมด้วยการหนุนสะโพกให้สูงขึ้น มีการปักลวดลายและการจับจีบกระโปรง
14.สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่13 (Louis XIII, พ.ศ. 2153-2186)
ผู้ชายในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ยังคงนิยมสวมเสื้อเข้ารูปผ่าหน้า แขนเสื้อยาวพองเล็กน้อยแล้วรวบไว้ที่ข้อมือ ตกแต่งปลายแขนด้วยลูกไม้ ตกแต่งคอเสื้อด้วยการระบายลูกไม้เป็นปีกคลุมไหล่รอบตัว คาดเข็มขัด มีเสื้อคลุมพาดไหล่ ใส่กางเกงขาพองรัดปลายขาแต่งปลายขาด้วยผ้าลูกไม้ สวมวิกผมปลอม สวมหมวกปีกทำด้วยหนังและประดับด้วยขนนกและสวมรองเท้าบู๊ตทำจากหนัง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนิยมส่วนเสื้อเข้ารูปผ่าหน้าคอเสื้อมีทั้งแบบเปิดกว้างและปิดคอสูง ต่อเอวแหลมแขนเสื้อสามส่วนแขนพองใหญ่ รวบไว้เหนือข้อมือตกแต่งปลายแขนเสื้อด้วยผ้าลูกไม้ ตกแต่งคอเสื้อด้วยการระบายลูกไม้เป็นปีกคลุมไหล่ทั้งสองข้าง สวมกระโปรงผ่าหน้ายาวกรอมเท้า สวมทับกระโปรงตัวในซึ่งตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้ ใช้ผ้าลูกไม้คลุมศรีษะและสวมรองเท้าส้นสูง
15.สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่14 (Louis XIV, พ.ศ. 2187-2258)
ในสมัยนี้โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2204-2213ฝรั่งเศสเป็นผู้นำแฟชั่นและเป็นยุคแห่งความหรูหราฟุ่มเฟือย เครื่องแต่งกายนิยมประดับด้วยลูกไม้ ผู้ชายสวมเสื้อผ่าหน้าแขนยาวแขนพองเล็กน้อยรวบไว้ที่ข้อมือปลายแขนแต่งด้วยลูกไม้ ผูกผ้าพันคอเนื้อโปร่งเบาสวมทับด้วยเสื้อสูทยาวเกือบถึงเข่า ผ่าติดกระดุมแขนยาว แล้วจึงสวมเสื้อคลุมเป็นสูทตัวยาวคลุมเข่าแขนกว้างทับอีกชั้นหนึ่ง สวมกางเกงขายาว แล้วจึงสวมถุงเท้ายาวทับขากางเกงรัดถุงเท้าไว้ที่เข่า สวมวิกผม สวมหมวกประดับด้วยขนนกและสวมรองเท้าบู๊ตส้นสูงประดับด้วยโบว์ ส่วนผู้หญิงสวมเสื้อคอเหลี่ยมกว้างและแต่งรอบคอด้วยลูกไม้ นิยมปักตกแต่งลวดลายบริเวณเสื้อด้านหน้า เน้นรูปร่างตั้งแต่ช่วงเอวขึ้นไป แขนสามส่วนพอดีแขนตกแต่งปลายแขนด้วยลูกไม้ จีบระบายทิ้งชายยาวไปด้านหลังของแขนและตกแต่งช่วงเอวด้วยผ้าจับจีบเป็นรูปโบ กระโปรงยาวกรุยกรายกรอมเท้าและสวมรองเท้าหนังส้นสูง
16.สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่15 (Louis XV, พ.ศ. 2258-2313)
ผู้ชายยังคงแต่งกายเหมือนกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่างกันตรงที่มีเสื้อคลุมสูทตัวนอก ตกแต่งผ้าลูกไม้ที่ชายเสื้อสวมทับอีกชั้นหนึ่ง นิยมผูกหูกระต่ายขนาดใหญ่ที่คอเสื้อตัวใน และมีการรวบวิกผมแล้วผูกด้วยโบขนาดใหญ่ที่บริเวณท้ายทอย เช่นเดียวกับผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงการแต่งกายเพียงเล็กน้อย กล่าวคือ นิยมใช้โบตกแต่งตัวเสื้อด้านหน้าแทนการปักลวดลาย และนิยมสวมกระโปรงผ่าหน้าตั้งแต่ช่วงเอวลงไป เผยให้เห็นกระโปรงตัวในซึ่งเป็นลวดลายสวยงามเช่นเดียวกับกระโปรงตัวนอก
17.สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่16 (Louis XVI, พ.ศ. 2313-2337)
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า พระนางแมรี่อังตัวเนต (Marie-Antoinette) ซึ่งนับว่ามีบทบาทในการแต่งกายของผู้หญิงในสมัยนี้มาก ผู้ชายยังคงแต่งกายเหมือนในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเสื้อสูทตัวในเป็นเสื้อสูทสั้นยาวแค่สะโพกแขนแคบลง ส่วนผู้หญิงนิยมแต่งกายหรูหราใช้ผ้าสิ้นเปลืองมากแต่งระบายรูดและจับจีบมาก เสื้อคอลึกมีปกเล็กน้อย กระโปรงบานมีโครงด้านในแบบสุ่มไก่แต่งด้วยโบมีพู่ห้อยระย้า กระโปรงจับจีบเดรปที่ด้านหลัง ทรงผมประดับขนนกและไข่มุกตกแต่งหมวกด้วยโบ มีพัดแบบคลี่ออกเป็นเครื่องประดับเครื่องแต่งกายภายนอกอีกชิ้นหนึ่ง ชนชั้นเจ้านายในพระราชสำนักดำรงชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ขณะที่ประชาชนอดอยากยากจนจึงเกิดความไม่พอใจ รวมตัวกันเดินขบวนและจับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระมเหสีประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีน (Guillotin) ในปี พ.ศ. 2337
18.สมัยปฎิวัติ (Revolution, พ.ศ.2337-2342)
ภายหลังการนปฎิวัติครั้งใหญ่ในปี 2337 คณะไดเร็คโตรี (Directory) ได้เข้าบริหารประเทศในปี พ.ศ. 2338 แต่การบริหารเป็นไปอย่างไร้สมรรถภาพ จึงถูกนโปเลียนโบนาปาร์ต ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประชาชนในฐานะวีรบุรุษผู้มีชัยชนะในสงครามกับอียิปต์ฉวยโอกาสทำรัฐประหาร แล้วตั้งคณะผู้บริหารชุดใหม่ เรียกว่า คอนซูเลท (Consulate) ขึ้นในปี พ.ศ. 2342เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะลำบากยากแค้น การแต่งกายจึงเป็นแบบง่าย ๆ รัดกุมขึ้น ผู้ชายสวมเสื้อกั๊กแต่งเส้นเข้ารูป สวมทับเสื้อตัวในซึ่งจับจีบระบายตรงปกเสื้อและปลายแขน ผูกผ้าพันคอมัสลินพันคอหลายรอบแล้วผูกเป็นโบ มีเสื้อคลุมตัวนอกแขนยาวเข้ารูป สวมทับด้วยเสื้อกั๊กอีกชั้นหนึ่ง ด้านหน้าเปิดออกความยาวแค่เอว ด้านหลังปล่อยชายยาวถึงเข่า สวมกางเกงขายาวเข้ารูป สวมถุงเท้ายาวทับใช้ผ้าผูกเป็นโบไว้ที่ใต้เข่า ส่วนผู้หญิงสวมชุดกระโปรงผ้ามัสลินหรือผ้าฝ้าย เสื้อแขนยาวเข้ารูปคอตั้งคลุมสะโพกเส้นเอวแหลมแต่งระบายย้วยตรงอกเสื้อและปลายแขน สวมทับเสื้อตัวใน ผ่าหน้าติดกระดุมเป็นแถวสวมกระโปรงปลายบาน ทั้งชายหญิงสวมรองเท้าหนังมีสีสันและสวมหมวกทรงสูงแต่งด้วยโบ
19.สมัยคอนซูเลท (The Consulate, พ.ศ. 2342-2347)
หลังจากทำรัฐประหารแล้ว คณะรัฐบานคอนซูเลท ซึ่งมีนโปเลียน โบนาปาร์ตเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในคณะรัฐบาล ได้เข้าบริหารประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2342 เป็นต้นมา แต่สมัยคอนซูเลทนี้กินเวลาช่วงสั้นเพียง 5 ปี ก่อนที่จะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2347เเมื่อนโปเลียนได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ใช้พระนามว่า พระเจ้านโปเลียบที่ 1 แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส การแต่งกายในสมัยคอนซูเลทนื้ ผู้ชายยังคงแต่งกายแบบง่ายๆรัดกุม เหมือนในสมัยปฎิวัติแตกต่างตรงเสื้อกั๊กตัวสั้นขึ้นความยาวแค่เอว ใช้ผ้าพันคอพันสูงหลายตลบแทนการผูกโบ สวมหมวกทรงเรือและสวมรองเท้าหนังหัวแหลม ส่วนผู้หญิงสวมชุดตัดด้วยผ้าบางเบาคอกว้างแขนสั้นคอสูงแบบต่อใต้อก สวมกระโปรงยาวปลายบานไม่มาก มีผ้าคลุมไหล่ผืนยาวปักลวดลายตรงชายทั้งสองด้าน ผมปล่อยยาวเป็นหลอดยาวประบ่า นิยมสวมหมวกทรงปาเมลา (Pamela) และสวมรองเท้าหัวแหลมมีส้น
20.สมัยจักรวรรดิที่ (The First Empire, พ.ศ. 2347-2358)
ในสมัยจักรวรรดิที่ 1 ของนโปเลียน บ้านมืองสงบสุขประชาชนจึงมีเวลาหันมาสนจับการแต่งกาย ผู้ชายสวมเสื้อรูปทรงกะทัดรัดนุ่งกางเกงเข้ารูป สวมถุงเท้ายาวทับกางเกงใต้เข่า ใช้ผ้าพันคอและเสื้อสูทเปิดด้านหน้ามีปก ชายเสื้อด้านหลังยาวเกือบถึงเข่าแบบเรียบง่าย สวมรองเท้าบู๊ตยาวยังคงนิยมรองเท้ามีส้น สวมหมวกทรงสูง ส่วนผู้หญิงนิยมสวมเสื้อทรง “เอ็มไพร์” (Empire) ที่ลดความหรูหราลงมามาก เป็นเสื้อเข้ารูปแขนสั้นแขนจีบรูดพองแบบแขนตุ๊กตา ต่อใต้อกเป็นกระโปรงยาวกรอมเท้าลดความบานและความกว้างของกระโปรงลง และเนื่องจากเป็นชุดแบบต่อใต้อกจึงมีเครื่องชั้นในพยุงหรือรั้งทรวงอกให้สูงขึ้น เสื้อยกทรงทำด้วยผ้ามัสลิน เรียกว่า “แบนดีน” (Bandean) มีลักษณะเป็นผืนผ้าด้านหน้า ด้านหลังเป็นสายคาดซ้อนกันแล้วดึงมาผูกไว้ใต้อกนับเป็นพื้นฐานของเสื้อยกทรงหรือบราเซียที่ใช้กันในปัจจุบัน นิยมใช้ผ้าคลุมไหล่ยาวสวมถุงมือยาว หมวกรูปทรงกะทัดรัดขึ้น ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ สมัยจักรวรรดที่ 1 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2358 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบด้วยประเทศออสเตรีย ปรัสเซีย และอังกฤษ ได้ร่วมมือกันปราบจักรพรรดินโปเลียนและเนรเทศให้ไปพำนักอยู่ในเกาะเซนต์เฮเลน่า (St.Helena)จนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2364
21.สมัยพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ (Louis Philippe, พ.ศ. 2373-2391)
สมัยพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ 18 ปี การแต่งกายลดความหรูหราลง การแต่งกายของผู้ชาย นิยมสวมเสื้อเข้ารูปมีปกเล็กลงเปิดเสื้อด้านหน้าถึงเอวชายเสื้อด้านหลังยาวเกือบถึงเข่า สวมเสื้อตัวในเป็นเสื้อกั๊กติดกระดุมสองแถวทับเสื้อแนบตัวแขนยาวอีกชั้นหนึ่ง มีผ้าพันคอผูกเป็นโบ กางเกงทรงแคบลงกว่าเดิม หมวกยังคงนิยมทรงสูง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนั้นมี2 แบบ แบบแรกนิยมสวมเสื้อแขนยาวแขนรูดพองมากเรียกว่า “แขนขาหมูแฮม” ตกแต่งคอเสื้อด้วยผ้าลูกไม้จีบระบายเป็นชั้นๆปิดคอ สวมกระโปรงปลายบานรูดรอบเอวพองพอควรยาวถึงข้อเท้า สวมหมวกปีกกว้างตกแต่งด้วยโบผูกโยงมารวบเป็นโบอยู่ใต้คาง แบบที่สอง นิยมใช้ผ้าลูกไม้ตกแต่งคอเสื้อซึ่งเป็นคอแหลมลึกเป็นชั้นๆระบายแขนเสื้อตอนกลางและชายกระโปรงเป็นชั้นๆผูกโบที่เอว สวมหมวกปีกกว้างตกแต่งด้วยผ้าลูกไม้ผูกโยงเป็นโบอยู่ใต้คาง ทรงผมของผู้หญิงสมัยนี้นิยมดัดเป็นหลอด ๆ นิยมถือร่มคันเล็ก ทั้งชายและหญิงนิยมสวมรองเท้าหนังมีส้นเล็กน้อย
22.สมัยจักรวรรดิที่2 (The Second Empire, พ.ศ. 2391-2413)
เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นอีก การแต่งกายในช่วงนี้มีความนิยมอย่างใหม่เกิดขึ้นเช่นกัน ผู้ชายนิยมสวมเสื้อสูทตัวยาวทับเสื้อกั๊กซึ่งสวมทับเสื้อเชิ้ตตัวในผูกหูกระต่าย กางเกงฟิตพอดีตัวยาวคลุมรองเท้า ถือไม้เท้าเรียวเล็ก สวมหมวกทรงกลมและทรงสูง ผู้หญิงนิยมสวมเสื้อเข้ารูปมีทั้งแบบมีปกปิดคอและคอกว้างโชว์แผ่นหลัง กระโปรงบานมากมีแบบซ้อนเป็นชั้นๆใส่สุ่มมีการดันเฉพาะด้านหลัง แลดูเอวเล็กเส้นรอบนอกเหมือนระฆัง มีการตกแต่งชายกระโปรงและเสื้อด้วยโบและอัดพลีทอย่างหรูหรา หมวกนิยมผูกไว้ใต้คาง ถือร่มคันเล็กและพัด ทั้งชายและหญิงสวมรองเท้าหนัง
23.สมัยปี พ.ศ .2413-2432
สมัยนี้เริ่มต้นแต่ช่วงก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้ชายหันกลับไปแต่งกายคล้ายกับผู้ชายในสมัยพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ กล่าวคือ สวมเสื้อตัวนอกคล้ายเสื้อสูทปิดกระดุมหนึ่งเม็ดตรงใต้อกแล้วเปิดกว้างโค้งไปด้านหลังยาวจรดเข่า สวมเสื้อกั๊กติดกระดุมเป็นแถวยาวทับเสื้อแขนยาวตัวในผูกผ้าพันคอทบเก็บในเสื้อกั๊ก สวมกางเกงทรงแคบ สวมหมวกทรงกลมมีปีกรอบ สวมรองเท้าหนัง นิยมไว้เคราและมือเท้าเหมือนในสมัยจักรวรรดิที่ 2ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงไปอีก สวมเสื้อเข้ารูปคอปิด ผ่าด้านหน้าตลอดติดกระดุมเป็นแถวตัวเสื้อยาวคลุมสะโพก แต่งระบายปลายเสื้อ กระโปรงที่เคยกางพองแบบระฆังเปลี่ยนมานิยมกระโปรงแบบด้านหน้าแนบลำตัวเข้ารูปดูเพรียวขึ้น ด้านหลังแบบหางปลายยาวลากพื้น ต่อเอวต่ำแต่งเส้นเดรปรวบเป็นโบไว้ด้านหลัง มีโครงด้านในดันสะโพกให้โด่งขึ้นทรงนิยมเป็นหลอดและปล่อยเป็นลอนตามธรรมชาติ และนิยมสวมหมวกใบเล็กทับผ้าผูกซึ่งรวบเป็นโบไว้ใต้คาง
24.สมัยปี พ.ศ. 2433-2458
ในสมัยนี้การแต่งกายของผู้ชายนิยมสวมเสื้อคลุมตัวยาวครึ่งแข้งสวมทับเสื้อตัวใน ยังคงใช้ผ้าพันคอ สวมกางเกงฟิตพอดีตัว สวมหมวกทรงสูงและสวมรองเท้าหนังมีส้น ส่วนหการแต่งกายของผู้หญิงนิยมตัดชุดด้วยผ้าพื้นและผ้าตาเล็กๆ ทรงเสื้อกะทัดรัดแบบผู้ชายยาวคลุมสะโพกผ่าด้านหน้าติดกระดุมเป็นแถวมีปกติดคอแขนเสื้อจีบพองใหญ่แค่ข้อศอกแล้วรวบเล็กแนบแขนถึงข้อมือ สวมกระโปรงยาวกรอมเท้ารูดเอวเล็กน้อยปลายออก สวมหมวกสักหลาดแบบมีปีกประดับด้วยขนนกและดอกไม้ และสวมรองเท้าหนังหัวแหลมมีส้น ในสมัยนี้มีการออกแบบชุดเครื่องแต่งกายของผู้หญิงสำหรับใส่ตอนงานวันเกิดขึ้นมากมาย เป็นการแต่งกายแบบง่ายๆไว้ใส่ปั่นจักรยาน,เดินเล่น,ขี่ม้า,นั่งเรือ,ล่าสัตว์โดยนิยมสวมกางเกงขาพองใหญ่จีบรูดรวบเล็กใต้เข่า สวมรองเท้าบู๊ตทับคาดเข็มขัดหนังและสวมหมวกสักหลาด
25.สมัยปี พ.ศ. 2459-2467
เป็นช่วงที่เกิดแฟชั่นการแต่งกายใหม่ๆขึ้น ผู้ชายนิยมสวมเสื้อทรงสูทความยาวแค่สะโพก เสื้อผ่าด้านหน้าติดกระดุมสามเม็ดมีทั้งแบบกระเป๋าเจาะและกระเป๋าปะ สวมทับด้วยเสื้อกั๊กและเสื้อเชิ้ตตัวในผูกเนกไท สวมหมวกทรงเตี้ยถือไม้เท้า สวมถุงเท้าและสวมรองเท้าหุ้มส้นทำด้วยหนัง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนิยมสวมเสื้อเข้ารูปแล้วบานย้วยช่วงหลังคลุมสะโพกหรือเข้าเอวดูทะมัดทะแมง คอเสื้อปิดคอผ่าด้านหน้าติดกระดุมเป็นแถว ตกแต่งคอเสื้อแขนเสื้อชายเสื้อหรือชายกระโปรงด้วยผ้าลูกไม้หรือขนสัตว์ สวมกระโปรงย้วยหรือรูดเป็นชั้นๆยาวคลุมเข่า สวมรองเท้าส้นแหลมและสวมหมวกทรงกลมประดับด้วยขนนกหรือสวมหมวกปีกกว้าง
26.สมัย พ.ศ. 2468-2475
ในสมัยนี้ผู้ชายยังคงแต่งกายเหมือนสมัยที่ผ่านมา ในขณะที่แฟชั่นการแต่งกายของผู้หญิงเปลี่ยนรูปโฉมแปลกตาไปจากเดิมมาก โดยเปลี่ยนมาสวมกระโปรงทรงตรงและสั้นแค่เข่า เสื้อต่อเอวต่ำถึงสะโพกใช้ผ้าน้อยลงคอด้านหลังกว้างลึก นิยมใช้ผ้าย้วยตกแต่งเสื้อหรือสวมเสื้อมีปกเปิดด้านหน้ากว้างแลเห็นเสื้อคอกลมกว้างตัวใน ผู้หญิงสมัยนี้นิยมเคริ่องประดับประเภทไข่มุกลูกปัด สำหรับหมวกนิยมหมวกทรงเล็กพอดีกับศรีษะ ส่วนทรงผมนิยมทรงสั้นแบบผู้ชาย ซึ่งเรียกทรงผมแบบนี้ว่า “กาซอง”(Garcon) และนิยมสวมรองเท้าหัวแหลมส้นสูง
27.สมัยปี พ.ศ. 2476-2490
ในสมัยนี้การแต่งกายของผู้ชายยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงเปลี่ยนมานิยมชุดเข้ารูปแต่งต่องช่วงไหล่ให้แลดูกว้าง ปกเสื้อนิยมปกใหญ่ที่เรียกว่า “ปกเทเลอร์” (Tailored Collar) นิยมสวมกระโปรงทรงยาวครึ่งน่องหรือสวมกระโปรงอัดพลีทความยาวแค่เข่าและคาดเข็มขัด เป็นชุดกลางวันที่เสริมบุคลิกของผู้หญิงให้ดูสง่างาม ในขณะที่ชุดกลางคืนยังคงเป็นชุดกระโปรงยาวที่ทำให้แลดูอ่อนหวานแม้จะเป็นแบบปล่อยตามสบายมีผ้าคลุมไหล่ผืนใหญ่ สวมถุงมือยาวถึงข้อศอก นิยมสวมหมวกซึ่งมีรูปทรงแตกต่างกันมีทั้งหมวกปีกกว้างมากและหมวกสักหลาด นิยทถือกระเป๋าหนัง ส่วนรองเท้ามีทั้งแบบส้นสูงและส้นตันรองเท้าหัวแหลมยังคงเป็นที่นิยมอยู่
28.สมัยปี พ.ศ. 2491-2497
สมัยนี้อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การแต่งกายของผู้ชายยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีนักออกแบบหน้าใหม่เกิดขึ้นมากในจำนวนนั้นมีคริสเตียน ดิออร์(Christian Dior)รวมอยู่ด้วย ผลงานของเขาออกแสดงเป็นครั้งแรกและประสบผลสำเร็จอย่างงดงามกับแฟชั่นนิวลุค(New Look) เป็นกระโปรงบานคลุมเข่าปิดน่องใช้ผ้าเฉียงย้วยรอบตัวซึ่งมีความกว้างมาก ผลงานที่น่าสนใจของเขาอีก คือ เสื้อทรงเอไลน์(A-line)ซึ่งเป็นที่นิยมมากในปีพ.ศ. 2497 จนถึง พ.ศ. 2500 แม้ว่าเขาจะจบชีวิตแล้วแต่ชื่อเสียงของดิออร์ก็ยังคงปรากฎทั่วโลกในฐานะนักออกแบบเครื่องแต่งกายผู้มีชื่อเสียง ปัจจุบันยังคงมีผู้ดำเนินกิจการแทน ผลงานของดิออร์นับว่ายังคงมีอิทธิพลต่อนักออกแบบรุ่นปัจจุบัน สำหรับในสมัยนี้ทรงผมของผู้หญิงกลับไปนิยมทรง “กาซอง” คล้ายในสมัยปี พ.ศ.2468-2475 ทำให้ผู้หญิงแลดูทะมัดทะแมงขึ้น นิยมสวมเครื่องประดับตกแต่งแบบง่ายและสวมรองเท้าส้นสูงหนาหัวโค้งมนขึ้น
29.สมัยปี พ.ศ. 2498-2503
ในช่วงนี้ผู้ชายหันมานิยมสวมใส่ยีนส์ (Jeans) ดูทะมัดทะแมงว่ายๆสบายๆสวมเสื้อเชิ้คสีขาวหรือเสื้อยีนส์ คาดเข็มขัดหนังาสวมถุวเท้าและรองเท้าหนัง ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงนิยมสวมเสื้อยืดคอตั้ง (Stand Collar) มีทั้งแบบแขนสั้นและแขนยาว สวมกับกระโปรงจีบรูดพองฟูยาวคลุมเข่า ถ้าสวมกางเกงก็นิยมฟิตพอดีตัวผ้าตาและผ้าริ้วอยู่ในความนิยม ผู้หญิงทำงานยังคงนิยมชุดสูทเข้ารูปเน้นความสวยงาม สวมหมวกพอดีศรีษะยังคงนิยมเคริ่องประดับตกแต่งแบบเรียบง่าย ทรงผมนิยมทรง “กาซอง”และทรง “หางม้า” และนิยมสวมรองเท้ามัทั้งแบบส้นสูงหนาและส้นเตี้ย
30.สมัยปี พ.ศ. 2504-ปัจจุบัน
ตั้งแต่ปีพ.ศ.2504เป็นต้นมา การแต่งกายของหญิงและชายหมุนเวียนเปลี่ยนไปมา สรุปได้ว่า แฟชั่นปัจจุบันของผู้ชายได้วิวัฒนาการมาจากเดิมมาก ชุดสากลกลายเป็นแบบที่นิยมใช้กันทั่วโลก เสื้อเชิ้ต (Shirt) เสื้อโปโล (Polo shirt) และเสื้อทีเชิ้ต (T-Shirt) เป็นที่นิยมของทุกวัยกางเกงขายาวนิยมแบบฟิตพอดีตัว กางเกงขาสั้นนิยมเหนือเข่าพอดีเข่า สำหรับยีนส์ยังคงอยู่ในความนิยมตลอดมา ขนาดของเนกไทและปกเสื้อจะเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมส่วนแขนเสื้อและขากางเกงยังคงของเดิมไว้ สำหรับการแต่งกายในปัจจุบันของผู้หญิง ชุดทำงานหรือชุดเดินทางนิยมชุดสูทแบบกระโปรงใต้เข่าหรือเป็นกางเกงตามความเหมาะสมของประเภทของงานที่ทำ เสื้อตัวในนิยมแบบกระโปรงชุด (Dress) ชุดลำลองนิยมแบบชุดคนละท่อนแนวคอเสือ้และปกเสื้อมีทุกรูปแบบเช่นเดียวกับรูปทรงของกระโปรง,กางเกง,แขนเสื้อรวมถึงเครื่องประดับตกแต่งภายนอกร่างกายได้แก่รองเท้า,กระเป๋า,เข็มขัด,แว่นตาก็ขึ้นอยู่กับสมัยนิยมเช่นเดียวกัน
จากการศึกษาประวัติการแต่งกายของชาวฝรั่งเศสพอสรุปได้ว่า ในช่วงแรกนั้นชาวฝรั่งเศสนิยมแต่งกายแบบเรียบง่ายตามแบบอย่างที่ได้รับอิทธิพลมาจากโรมัน ซึ่งเป็นชาตินักรบและจักรวรรดิโรมันมีอิทธิพลครอบงำประเทศต่างๆในทวีปยุโรปในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศิลปวัฒนธรรมแล้วจึงพัฒนาการแต่งกายไปสู่รูปแบบที่เน้นความสวยงามเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามความเจริญรุ่งเรืองทางด้านสรรพวิทยาและความมั่งคั่งของประเทศฝรั่งเศสซ ซึ่งได้ตัดตวงมาจากอาณานิคมที่มีอยู่แทบทุกทวีปในโลก โดยมีเจ้านายในราชสำนักเป็นผู้นำด้านการแต่งกายและการใช้ชีวิตที่เน้นความหรูหราฟุ่มเฟือย จนกระทั่งประชาชนผู้ทุกข์ยากหิวโหยทนแบกรับภาระไม่ได้อีกต่อไป จึงได้รวมตัวกันทำการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงาการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ หลังจากนั้นรูปแบบการแต่งกายของชาวฝรั่งเศสได้เปลี่ยนมาเป็นแบบที่เน้นความกระชับรัดกุมมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับสภาพสังคม ซึ่งต้องการความรวดเร็วเร่งรีบ เพราะมีการแข่งขันกันในการประกอบอาชีพสูงขึ้นทุกขณะ การแต่งกายที่ดูหรูหราฟุ่มเฟือยจะมีบ้างก็เพียงบางโอกาส เฉพาะในงานพิธีและงานสมาคมต่างๆที่จำเป็นต้องแต่งเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตนเองเท่านั้น ซึ่งรูปแบบการแต่งกายของชาวฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคก่อนการปฎิวัติ ยุคหลังการปฎิวัติ จนกระทั่งยุคปัจจุบัน ๆได้สะท้อนให้เห็นว่าฐานะทางเศรษฐกิจรวมทั้งสภาวการณ์ของสังคมที่เป็นอยู่ในขณะนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อรูปแบบการแต่งกายของชนในชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น